คู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ Ep.1 – คิดก่อนปลูก

“การสร้างบ้าน” ถูกมองว่าเป็นเรื่องยาก เรื่องใหญ่ สุดแสนจะยุ่งยาก ซับซ้อน เต็มไปด้วยเรื่องน่าปวดหัว โดยเฉพาะหากเป็นบ้านหลังแรก ก็ยิ่งเครียดกันไปใหญ่ หลายท่านไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน จับต้นชนปลายไม่ถูก

แต่อย่ากังวลไป วันนี้ ริชคอนส์จะนำเรื่องยากซับซ้อนเหล่ามาแจกแจงให้ละเอียด ผ่านชุดบทความ คู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ โดยจะมีทั้งหมด 12 ตอนเรียงลำดับขั้นตอนตั้งแต่ตัดสินใจไปจนตรวจรับ ทำความสะอาดกันเลย โดยวันนี้ขอเสนอเป็นตอนแรก เกี่ยวกับการตั้งต้นอย่างถูกต้อง ในหัวข้อ “คิดก่อนปลูก” มาดูกันเลย
หากได้พูดคุยกับใครที่เคยมีประสบการณ์ในการสร้างบ้านเอง คำศัพท์ที่เราจะได้ยินควบคู่กันไปกับการบอกเล่า เรียกได้ว่าเป็นคำบ่นยอดฮิต คงหนีไม่พ้นคำว่า “ยุ่งยาก” “วุ่นวาย” และ “บานปลาย” สะท้อนถึงปัญหาทั้งทางด้านการจัดการ รายละเอียด ตลอดจนเรื่องงบประมาณ ซึ่งสำหรับหลายๆ คน เป็นปัญหาใหญ่มากโดยเฉพาะท่านที่แหล่งทุนมาจากการกู้เงิน เราสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันกับปัญหาเหล่านี้ได้ หากเราตั้งต้นและจัดเรียงความคิดเราอย่างเป็นระบบ วางแผนอย่างละเอียด บนความเข้าใจที่ครบถ้วนเกี่ยวกับความต้องการและความคาดหวังของเราในฐานะผู้อยู่อาศัยของบ้าน ทั้งนี้ ทางริชคอนส์ได้ทำข้อมูลเป็นชุดคำถามสั้นๆ 6 ข้อที่เราควรสรุปให้ได้กับตัวเอง ก่อนจะเดินหน้าตัดสินใจและวางแผนการสร้างบ้านในขั้นตอนต่อๆ ไป ดังนี้

1. เหตุผลทำให้เลือกปลูก ไม่เลือกซื้อบ้านปลูกสำเร็จพร้อมอยู่คืออะไร?

ปัจจุบันมีโครงการมากมาย บ้านหลากหลายสไตล์ ในทุกย่านที่พักอาศัยให้คุณได้เลือกซื้อ เหตุใดจึงตัดสินใจซื้อที่ดินเปล่าแล้วปลูกบ้านเอง
หากคำถามเหล่านี้ทำให้ท่านหมดกำลังใจในการปลูก หรือยังหาข้อโต็แย้งจากบ้านสำเร็จรูปไม่ได้ นั่นหมายถึง ท่านยังทำการศึกษาค้นคว้าไม่มากพอ นั่นเป็นกับดักอันดับหนึ่งของความวุ่นวายบานปลายที่กำลังจะตามมาหากปลูกบ้านเอง ฉะนั้นให้กลับมาศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับบ้านจัดสรร และทางเลือกต่างๆ ให้มากขึ้น ระหว่างที่ทำเรื่องนี้ ท่านจะได้พบกับตัวอย่างและไอเดียมากมาย ซึ่งจะทำให้ท่านรวบรวมและตกผลึกเกี่ยวกับบ้านในฝันที่อยากจะสร้างเองได้ในที่สุด สุดท้ายให้ลิสท์ ประเด็นที่อยากได้แต่บ้านพร้อมอยู่ให้เราไม่ได้เช่น “อยากได้สวนใหญ่ๆ” “ห้องน้ำ x ห้อง” “ห้องครัวแบบจัดเต็ม” ฯลฯ เอาไว้เพื่อใช้ในการสรุปประเด็นกับผู้ออกแบบต่อไป

2. บ้านหลังนี้มีใครอยู่บ้าง?

สำคัญไม่แพ้กัน คือการทราบความต้องการของผู้อาศัยทุกคน ที่สำคัญต้องเผื่อความต้องการ “ในอนาคต” ไว้ด้วย เช่นคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะเข้าวัยชรา คู่รักที่อาจมีสมาชิกใหม่ คนรักสัตว์ที่อาจมีสัตว์เลี้ยง หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ที่อนาคตก็จะต้องโต ต้องมีห้องส่วนตัว ต้องนำมาคิดไว้ให้ละเอียด โดยชั่งน้ำหนักระหว่างความต้องการตั้งต้น แล้วคิดเผื่อไปสัก 10 ปี จะได้บ้านที่ตอบโจทย์ระยะยาวได้อย่างดี

3. อย่างได้สไตล์บ้านแบบใด?

ในส่วนนี้แนะนำให้ใช้เว็ปไซต์ เช่น pinterest, instagram หาบ้านสไตล์ที่เราชอบ หรือขอแบบบ้านจากสถาปนิกที่ท่านสนใจอยากใช้งานมาลองเลือกดู ควรทำเป็นแฟ้มภาพที่เล่าเรื่องราวของภาพรวม ตลอดจนรายละเอียดที่ชอบ มุมต่างๆ ที่รู้สึกว่าอยากได้ โดยจัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจง่าย และนำมาคุยกันในหมู่สมาชิก ก่อนสรุปไปคุยกับผู้ออกแบบ ส่วนนี้จะบ่งบอกท่านได้เยอะมากว่า งบประมาณก่อสร้าง รวมกับงบประมาณตกแต่ง ต้องใช้เงินประมาณเท่าไร
รายการหัวข้อที่ควรครอบคลุมประกอบด้วย
– รูปแบบหลังคา
– บ้านกี่ชั้น แต่ละชั้นเพดานสูงต่ำประมาณไหน
– สไตล์ของบ้าน เช่น ไทย ตะวันตก ลอฟท์ ฯลฯ
– โทนสี วัสดุที่ชอบ
– ห้องพิเศษๆ หรือมุมต่างๆ ที่อยากได้ เช่น ครัว ห้องสมุด ฯลฯ

4. ที่ตั้งและพื้นที่โดยรอบเป็นอย่างไร?

เรื่องนี้มีส่วนสำคัญมากๆ 3 ประการคือ
– รูปร่างที่ดิน กำหนดรูปร่างของบ้าน
กล่าวคือ หน้ากว้าง ความลึก ของที่ดิน จะบ่งบอกข้อจำกัดว่าบ้านสามารถถูกสร้างในรูปแบบใดได้บ้าง ตลอดจนมุมต่างๆ ของที่ดิน รูปทรง และทิศ ซึ่งหากท่านเชื่อในเรื่องฮวงจุ้นด้วย นี่จะเป็นขั้นตอนสำคัญมากๆ อีกขั้นตอนหนึ่งที่จะกำหนดอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับบ้าน
– สิ่งปลูกสร้างรอบๆ บ้านกำหนดสิ่งปลูกสร้างของบ้านเรา
แน่นอนว่าเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนสิ่งที่อยู่นอกที่ดินของเราได้ ฉะนั้นการพิจารณาเรื่องสิ่งปลูกสร้างรอบๆ บ้านจะทำให้เราสามารถทำให้เราเลือกด้านเลือกมุมของบ้านเพื่อดึงจุดเด่น ปิดจุดด้อย ของสิ่งปลูกสร้างรอบบ้านได้ เช่น ให้ทึบบังด้านที่เราไม่ชอบ ไม่สวย และปลอดโปร่งในมุมที่สวยงามสบายดีเป็นต้น
– ที่ตั้งตามผังเมือง
ในส่วนนี้ มักไม่มีประเด็นอะไรมากมาย แต่รู้ไว้ใช่ว่า คือที่ตั้งของที่ดินเราอยู่ในโซนแบบไหนตามกฎหมายผังเมือง เพราะจะมีผลต่อข้อกำหนด เช่น ความสูง การเว้นระยะ และการขออนุญาตก่อสร้าง (ในบางรูปแบบของบ้าน) ซึ่งหลายครั้งเรามักจะอนุมานไปเองว่า รอบๆ สร้างได้  เราก็สร้างได้ แต่นั่นอาจทำให้เราทำผิดบางข้อกำหนดซึ่งจะตามมาด้วยงบประมาณที่บานปลายไม่รู้จบ ทั้งเพื่อการแก้แบบ และการบริหารจัดการด้านกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ

5. งบประมาณไม่เกินเท่าไร?

มีวิธีคิดงบประมาณอยู่ 2 แบบที่นิยมกัน คือ คิดตามตารางเมตร ซึ่งถ้าบ้านปกติๆ ไม่รวมตกแต่ง จะอยู่ที่ตารางเมตรละประมาณ 20,000-30,000 บาท วิธีคิดคร่าวๆ ง่ายๆ ให้ใช้สูตรดังนี้
2.5 x (50 x จำนวนห้องนอน)
เช่น ถ้าต้องการ 2 ห้องนอน ก็จะเป็น 2.5x(50×2) = 250 ตารางเมตร ค่าก่อสร้างก็จะเท่ากับประมาณ 2,500,000 – 3.000,000 บาท เป็นต้น
วิธีที่สองที่นิยมคือ ตั้งต้นด้วยตัวเลขงบในใจ เช่น มีงบ 3 ล้านบาท รวมทุกอย่างตั้งแต่ออกแบบยันตกแต่ง เป็นต้น วิธีนี้จะช่วยให้สถาปนิกแจ้งข้อจำกัดกับเราได้ง่ายขึ้น และทำตัวเลือกกลับมาให้เราตัดสินใจ ทั้งนี้สุดท้ายหากอยากได้ส่วนใดเพิ่มก็สามารถ ขยับงบได้สะดวกอีกด้วย

6. เงินที่สร้าง มาจากไหน?

หากเป็นเงินออมแล้วไม่อยากบานปลาย ส่วนนี้จะช่วยเตือนใจ และอย่าลืมกำชับกับสถาปนิกให้ชัดเจน เพื่อกำหนดงบประมาณ หากจะเป็นเงินกู้ แนะนำให้เริ่มพูดคุยกับธนาคารตั้งแต่จุดนี้เพื่อหาข้อมูลว่าต้องเตรียมการ เตรียมเอกสารอย่างไร และประสานกับสถาปนิกให้จัดทำแบบต่างๆ ตามข้อกำหนด เพื่อความสะดวกในการทำเรื่องสินเชื่อ ตลอดจนความลื่นไหลในการทำงานของฝ่ายสถาปนิกด้วย
หากเราได้คำตอบทั้งหมด ยิ่งละเอียดยิ่งดี เราจะพบว่าเราสามารถจินตนาการภาพรวมของบ้านของเราได้ อย่างเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น ขั้นตอนต่อไปให้นำเอาคำตอบเหล่านี้มาเรียงในกระดาษ A4 1-2 หน้าเก็บไว้ พร้อมรูปภาพตัวอย่าง ที่ไว้อธิบายประกอยความคิดเหล่านั้น ซึ่งกระดาษแผ่นนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ใช้ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความ “บานปลาย” และความปวดหัวต่างๆ ได้เป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถนำไปใช้เพื่อบรีฟงานให้กับสถาปนิกและผู้ออกแบบได้เป็นอย่างดี

จบไปแล้วสำหรับตอนที่ 1 ของคู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ ครั้งหน้าเราจะมาต่อกันกับเรื่อง การออกแบบบ้านในตอนที่ 2 สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัย ต้องการคำปรึกษา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับการสร้างบ้าน การออกแบบ หรือการต่อเติมต่างๆ ทางริชคอนส์มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านพร้อมให้คำแนะนำเสมอ สามารถติดต่อเราได้ที่095-6456964 หรือผ่านทาง Line Official โดยการสแกน QR code ด้านล่าง

ชมผลงานจาก Richcons คลิ๊กที่นี่