คู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ EP 8: งานบันได

สวัสดีเพื่อนๆ ชาวริชคอนส์  กลับมาอีกครั้งกับ คู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ Ep. 8: งานบันได หลักจากที่เราพูดถึงงานภาพรวมกันมาไกลระดับหนึ่งแล้ว วันนี้ ริชคอนส์อยากชวนเพื่อนๆ หันมามองที่งานรายละเอียดกันบ้าง กับเนื้อหาโฟกัส งานบันได ว่าแล้วก็ไปชมกันเลย

โครงสร้างของบันได โดยทั่วไปนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก

 

1. บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก


จำง่ายๆ คือ บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กมักเป็นบันไดทึบ และไม่สามารถมองลอดลูกตั้งไปได้ บันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแบ่งเป็น 4 รูปแบบหลักๆ คือ

1.1 บันไดท้องเรียบ – เป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีท้องบันไดเรียบ เป็นบันไดแบบพื้นฐานที่สร้างง่ายที่สุด ช่างทั่วไปมีความชำนาญในการสร้าง

1.2 บันไดพับผ้า – เป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีท้องบันไดเป็นหยักไปตามขั้นบันได เป็นบันไดที่มีความสวยงามมากกว่าบันไดท้องเรียบ

1.3 บันไดพับผ้าแบบมีแม่บันได – ลักษณะเหมือนบันไดพับผ้า แต่จะมีแม่บันไดทำหน้าที่เป็นคานช่วยรับน้ำหนัก ซึ่งอาจจะอยู่กลาง หรือริมบันไดก็ได้

1.4 บันไดลอย – เป็นบันไดโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ยื่นเฉพาะลูกนอนบันไดออกมาจากผนัง เหมือนขั้นบันไดแต่ละขั้นลอยได้ ซึ่งจริงๆแล้วจะมีแม่บันไดคอนกรีตเสริมเหล็กซ่อนอยู่ในผนัง

2. บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก


บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก เป็นโครงสร้างบันไดที่เกิดจากการประกอบกันของชิ้นส่วนรับแรงต่างๆ
ที่ทำจากไม้หรือเหล็ก โดยโครงสร้างของบันไดประกอบไปด้วย

1. แม่บันได เป็นโครงสร้างหลัก ทำหน้าที่เหมือนคานรับน้ำหนัก
2. ลูกนอนบันได เป็นส่วนของพื้นที่ไว้เหยียบ
3. ลูกตั้งบันได เป็นส่วนที่ปิดระหว่างลูกนอนบันไดแต่ละขั้น
4. พุกบันได ทำหน้าที่ยึดลูกนอนบันไดเข้ากับแม่บันได

บันไดโครงสร้างไม้ และบันไดโครงสร้างเหล็ก สามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ตามลักษณะแม่บันได

2.1 แม่บันไดขนาบข้างขั้นบันได – เป็นบันไดที่มีแม่บันไดอยู่ขนาบข้างขั้นบันไดทั้งสองฝั่ง โดยที่ลูกนอนบันไดยึดติดโดยตรงกับแม่บันได หากเป็นบันไดไม้จะใช้สลักหรือตะปูยึด ส่วนบันไดเหล็กจะใช้การเชื่อมหรือยึดด้วยสกรู

2.2 แม่บันไดอยู่ใต้ขั้นบันได – เป็นบันไดที่มีแม่บันไดอยู่ใต้ขั้นบันได โดยที่บันไดจะมีพุกบันไดทำหน้าที่ยึดลูกนอนที่วางขนานกับพื้นให้เข้ากับแม่บันไดที่วางเอียง แม่บันไดที่วางใต้ขั้นบันไดนี้มีได้ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป อาจวางตรงกึ่งกลางบันได หรือวางสองข้างของบันไดก็ได้

ตำแหน่งของบันได ต้องอยู่ส่วนไหนในตัวบ้าน ?

ตามหลักการแล้วไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าบันไดจะต้องอยู่ส่วนไหนของบ้าน แต่ควรจะขึ้นอยู่กับการใช้งานจริงและสถาปนิกผู้ออกแบบบ้านที่ต้องคำนึงการใช้งานของบันไดทุกจุดในบ้าน เพื่อการใช้งานที่ปลอดภัย

แล้วบันไดบ้าน สร้างแบบไหนให้ปลอดภัย ?

อยากสร้างบันไดให้ปลอดภัย ต้องคำนึงถึง 3ข้อนี้


1. สัดส่วนและระยะ – ระยะและสัดส่วนของบันได ถูกกำหนดให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกย่างก้าวที่ใช้งาน ตั้งแต่เรื่องขนาดของที่วางเท้า ระยะ-รูปแบบของการก้าวเดิน และระยะของชานพัก

สัดส่วนบันไดในกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารบอกไว้ว่า
ในส่วนของอาคารพักอาศัยความกว้างของบันไดต้องมากกว่า 90 เซนติเมตร
ลูกตั้งหรือความสูงของขั้นบันไดในแนวตั้งฉากกับพื้นไม่ควรเกิน 20 เซนติเมตร
ซึ่งระยะที่เหมาะสมที่สุดคือ 17.5 เซนติเมตร และลูกนอนหรือความกว้างของขั้นบันไดควรไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร
เพื่อก้าวเดินขึ้นลงบันไดได้เต็มฝ่าเท้า พอดีกับระยะการก้าวเดิน และเป็นระยะที่ใช้งานบันไดได้อย่างปลอดภัยที่สุด

2. จมูกบันได – จมูกบันได คือส่วนที่ยื่นออกมาจากขอบของบันได มีหน้าที่ป้องกันการลื่นตกบันได ปิดผิวให้ขอบบันไดเรียบเสมอกันทั้งหมด ป้องกันปลายเท้าเตะกับลูกตั้งของบันได รวมทั้งเสริมแรงกระแทกจากการใช้งานขึ้นลงบันได สำหรับพื้นผิวที่เหมาะสมกับการทำจมูกบันได ขั้นแรกจะต้องมีผิวหยาบ ไม่ลื่น

3. ราวจับบันได – ระยะของราวจับบันไดก็อยู่ในข้อกำหนดของการทำบันได เพื่อให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับสรีระของมนุษย์ โดยเฉลี่ยมาตรฐานของความสูงราวบันไดอยู่ที่ 86.4-96.5 เซนติเมตรจากพื้นผิว และเส้นผ่านศูนย์กลางราวจับควรอยู่ที่ 5 เซนติเมตร ซึ่งพอดีกับระยะกำมือ

เห็นมั้ยละคะ ว่าโครงสร้างของบันได สำคัญมากๆ มีหลากหลายรูปแบบ ที่เราสามารถเลือกใช้ได้ตามความชอบ และงบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งควรที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทั้งสถาปนิก และวิศวกร เพื่อที่จะได้บันไดที่มีทั้งความแข็งแรง และความสวยงามเข้ากับดีไซน์ของบ้านเราได้อย่างลงตัว

หากท่านใดมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเนื้อหา หรือมีข้อสงสัย อยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างบ้าน หรือมองหาผู้ออกแบบ หรือช่างผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อเราได้ที่ 095-6456964 หรือผ่านทาง Line Official โดยการสแกน QR code ด้านล่าง

ชมผลงานจาก Richcons คลิ๊กที่นี่