คู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ Ep. 2 – การออกแบบและเตรียมเอกสาร

เมื่อเราตกลงปลงใจ คิดตกผลึกกับตัวเองแล้วว่า เราจะสร้างบ้านของเราเองขึ้นมาใหม่ ขั้นตอนต่อไปนับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สุด เป็นกระดุมเม็ดแรกที่จะช่วยปูทางสู่บ้านใหม่ในฝันของเรา จะราบรื่นหรือทุลักทุเล ขั้นตอนนี้จะช่วยเป็นตัวกำหนดได้เป็นอย่างดี ขอให้ท่านเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ ช่วยกันตั้งใจจัดการและลงมือทำกับขั้นตอนนี้ให้ละเอียด รอบคอบ และเตรียมพร้อมให้ดีที่สุด กับบทที่สองของคู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ ว่าด้วยเรื่องการออกแบบและเตรียมเอกสาร โดยบทนี้ เราจะเน้นไปที่ขั้นตอนการออกแบบ การจัดทำแบบเพื่อใช้งาน ใช้ขออนุญาต และใช้ประกอบการก่อสร้างจริง โดยจะแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

1.เริ่มต้นออกแบบบ้าน

จากบทที่ 1 เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะพ มีภาพในใจกันแล้วว่าบ้านในฝันมีหน้าตาเป็นอย่างไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ในขั้นตอนนี้ แนะนำว่าให้ท่านเจ้าของบ้าน ปรึกษาและดำเนินการร่วมกันกับสถาปนิก เพราะจะมีความเชี่ยวชาญที่จะทำแบบออกมาได้ถูกต้องตามหลักการก่อสร้าง ตามกฎหมาย และตามที่เราคาดหวังอีกด้วย นอกจากนี้สถาปนิกยังมีประสบการณ์ที่จะแนะนำ บอกเล่า ถึงรูปแบบบ้านต่างๆ ตลอดจนไอเดียที่อาจจะตอบโจทย์ของเราโดยที่เราอาจไม่เคยนึกถึง ซึ่งจะทำให้เราได้บ้านที่ถูกใจในที่สุด

ในขั้นตอนนี้ ทางริชคอนส์ ขอสอดแทรกชุดข้อมูลเล็กๆ ที่ควรคิดควบคู่ไปด้วยในตอนออกแบบดังนี้

  • ตอนออกแบบอย่าลืมนึกถึงรูปร่างที่ดิน ที่ตั้ง และสภาพโดยรอบของที่ดินไปพร้อมๆ กันด้วย
  • อาณาบริเวณ และพื้นที่ใช้สอย แบ่งเป็น ในตัวบ้านและนอกตัวบ้าน
  • สมาชิกในบ้าน ว่ามีใครบ้าง เพื่อสถาปนิกอาจนึกถึงการใช้งานที่ควรมีเพิ่มเติมที่เราอาจคิดไม่ถึง
  • ข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งเรื่องผังเมือง กฎหมายอาคาร และกฎหมายก่อสร้าง

2.จัดทำแบบก่อสร้าง

การจัดทำแบบก่อสร้าง ทำเพื่อ 3 วัตถุประสงค์ คือ

  • ใช้ประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง
  • ใช้ประกอบการทำงานของช่างและผู้รับเหมาในการก่อสร้างจริง
  • ใช้ประกอบการจัดทำเอกสารสินเชื่อ เพื่อกู้เงินในการก่อสร้างจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน

แบบก่อสร้างสามารถแบกออกได้เป็นหลายส่วน โดยหลักๆ จะประกอบด้วย

2.1 แบบสถาปัตยกรรม

2.2 แบบวิศวกรรม ซึ่งสามารถแยกย่อยได้อีกหลากหลายมาก เช่น ไฟฟ้า ระบบ เครื่องกล สุขภิบาล

2.3 แบบอื่นๆ เช่น แบบตกแต่งภายใน แบบผังดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้จะต้องจัดทำด้วยมืออาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะที่ได้รับอนุญาต เพื่อความปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมาย ตลอดจนต้องมีลายเซ็นของผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านั้น กำกับอยู่กับแบบด้วย

แต่จะมีข้อยกเว้นที่วิศวกรและสถาปนิกไม่ต้องเซ็นกำกับแบบอยู่ หากบ้านของคุณเข้าเงื่อนไขดังนี้

  • บ้านไม่เกิน 2 ชั้น
  • พื้นที่ใช้สอยรวมไม่เกิน 150 ตารางเมตร
  • ความสูงต่อชั้นไม่เกิน 4 เมตร
  • ช่วงคานไม่เกิน 5 เมตร

หากตรงตามข้างต้น วิศวกรและสถาปนิกไม่ต้องเซ็นแบบ แต่ยังต้องยื่นขออนุญาต อยู่เช่นเดิมนะจ๊ะ อย่าเผลอสร้างโดยไม่ยื่นขอ เพราะจะถูกดำเนินคดีได้

3.ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง

ขั้นตอนนี้มีการเกี่ยวข้องกับราชการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย หากเราเตรียมเอกสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยขั้นตอนนี้ หลักการง่ายๆ ที่ทางราชการต้องการพิสูจน์ คือ ผู้สร้างมีสิทธิ์สร้าง เจ้าของที่ดินยินยอม เอกสารครบถ้วนถูกต้อง แบบบ้านไม่ขัดต่อกฎหมาย การก่อสร้างมีแผนที่ชัดเจน และมีผู้ควบคุมดูแลให้ปลอดภัย

หลักๆ ขั้นตอนนี้คืองานเอกสารล้วนๆ โดยเอกสารปกติจะประกอบด้วยเอกสารดังนี้

  • แบบ ข.1
  • สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน ของผู้ขออนุญาต
  • สำเนาโฉนดที่ดินขนาดจริง
  • สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน ของเจ้าของที่ดิน
  • ใบยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารในที่ดิน (กรณีปลูกสร้างในที่ดินของบุคคลอื่น)
  • แผนผังบริเวณ
  • แบบในการก่อสร้างอาคาร
  • รายการคำนวณ
  • สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
  • สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม

ขั้นตอนเหล่านี้ สิ่งที่คนตกม้าตายกันเยอะมากๆ และท่านเจ้าของบ้านควรระวัง คือ

  • จำนวนชุดของเอกสารไม่ครบ (ให้สอบถามทางเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน)
  • ลายเซ็นไม่ครบ (ปกติ สถาปนิก วิศวกร จะต้องเซ็นทุกหน้า ทุกคน)
  • สำเนาใบอนุญาตของผู้ประกอบวิชาชีพ ต้องครบทุกคน ไม่หมดอายุ ชื่อนามสกุลตรง
  • อัตราส่วนไม่ถูก (หลายหน่วยงาน ใช้ไม่ตรงกัน ควรสอบถามที่หน่วยงานให้ชัดเจนถึงอัตราส่วนคำนวณต่างๆ)

หากมีโอกาสเข้าสอบถาม ให้ลองนำลิสนี้เปรียบเทียบด้วย บางหน่วยงานอาจต้องการ มากกว่า หรือมีคำขอเพิ่มเติมได้

4.จัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง

ขั้นตอนนี้ค่อนข้างเรียบง่าย โดยวิธีการที่เป็นที่นิยมที่สุดคือการทำเอกสารประกอบการก่อสร้างพร้อมรายละเอียดการใช้วัสดุ หรือที่เรียกกันว่า BOQ โดยจะให้สถาปนิกทำรายการแบบแล้วแจกจ่ายให้ผู้รับเหมาไปเติมคำในช่องว่าง หรือให้ผู้รับเหมาทำขึ้นมาต่างคนต่างทำก็ได้ ในส่วนนี้ขอให้ทำให้ละเอียดไม่ตกหล่น และทำสัญญาจ้างประกอบขึ้นมาให้เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย เพื่อป้องกันความผิดพลาด งบประมาณที่บานปลาย และลดความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งงาน นอกจากนี้ควรจ้างที่ปรึกษาโครงการให้คอยควบคุม ตรวจงาน และดูแลความเรียบร้อยต่างในระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้ขั้นตอนต่อๆ ไปเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย ถูกต้อง และปลอดภัย

หากท่านเจ้าของบ้านมีข้อสงสัย หรือต้องการความช่วยเหลือในขั้นตอนใด ทางริชคอนส์มีผู้เชี่ยวชาญในทุกๆ ขั้นตอนคอยให้คำแนะนำและให้บริการ สามารถติดต่อเราได้ที่095-6456964 หรือผ่านทาง Line Official โดยการสแกน QR code ด้านล่าง

ชมผลงานจาก Richcons คลิ๊กที่นี่