คู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ EP 6: งานหลังคา

สวัสดีเพื่อนๆ ชาวริชคอนส์ กลับมาอีกครั้งกับคู่มือบ้านใหม่ฉบับสมบูรณ์ วันนี้ก็เป็น EP ที่ 6 กันแล้ว หวังว่าเพื่อนๆ จะได้นำข้อมูลที่เราได้แบ่งปันไปใช้ประโยชน์กันไม่มากก็น้อย หากท่านใดมีข้อสงสัย หรือลองนำไปทำแล้วได้ผลอย่างไร อย่าลืมแวะเวียนเข้ามาพูดคุยกับเราได้เสมอ
สำหรับครั้งนี้ เราจะพูดถึงเรื่องราวของงานหลังคากัน 
หลังคา เป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ ในการสร้างบ้านใหม่ เพราะหลังคาเป็นปราการด่านแรกที่ป้องกันสมาชิกในบ้านจากแสงแดด ลม และฝน
ในปัจจุบัน มีวัสดุทำโครงหลังคาและมุงหลังคาให้เลือกสรรมากมาย ในส่วนนี้ ขอยกให้ทางผู้ออกแบบเป็นผู้แนะนำ ให้สอดคล้องกับแบบที่นำเสนอ แต่สำหรับบ้านมาตรฐาน เราแนะนำว่า ใช้วัสดุ และโครงสำเร็จ ที่ได้รับมาตรฐานจากแบรนด์ชั้นนำ จะทำให้งานต่างๆ ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยกับงบประมาณที่สุด เพราะวัสดุและโครงสำเร็จ ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เคลือบสารกันสนิมมาเรียบร้อย และมักจะผ่านโปรแกรมคำนวณ ที่ทำให้เรามั่นใจได้ทั้งความปลอดภัย การรับแรง ความแม่นยำต่างๆ และความสวยงามเรียบร้อย
สิ่งสำคัญในการทำงานหลังคาสำหรับบ้านใหม่ ที่ท่านเจ้าของบ้านควรดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลักๆ คือ

ความปลอดภัยระหว่างการปฏิบัติงาน

 

หลายคนอาจเคยพบเห็นเป็นภาพที่จำกันได้ ช่างหลังคาส่วนใหญ่มักจะมองข้ามเรื่องความปลอดภัย หลายเจ้าส่งเด็ก และช่างหญิง ปีนขึ้นทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์นิรภัยใดๆ เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องของตก ที่สามารถตกลงมาเกิดอุบัติเหตุและความเสียหาย ทั้งต่อบุคคล และทรัพย์สินได้ ในส่วนนี้ ท่านเจ้าของบ้านหรือโครงการ ควรกำชับให้กวดขันวินัยของช่างให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่ดีในบ้าน หรือเกิดความเสียหายกับทรัพย์สิ

ความใส่ใจ ไม่ให้เสี่ยงต่อการรั่วซึม

 

บ้านใหม่ก็รั่วได้ ท่านเจ้าของต้องระวัง เพราะการรั่ว การซึมในหลายๆ ครั้ง ไม่ได้ส่งผลทันที แต่จะสะสม กว่าจะรู้ก็เสียหายไปมากมาย ไหนจะมีของมีค่าในบ้าน ที่อาจได้รับผลกระทบ ตลอดจนการสะสมของเชื้อโรคต่างๆ อีก ฉะนั้นจึงควรใส่ใจกับการทำงานหลังคาให้มากๆ โดยริชคอนส์มีคำแนะนำมาฝาก ดังนี้

5 จุดเสี่ยงรั่ว ที่เกิดจากการติดตั้งหลังคาที่ไม่ได้มาตรฐาน

1. โครงหลังคาบ้านไม่ได้มาตรฐาน

 

     เหตุที่ช่างและผู้ออกแบบส่วนมากใช้โครงสร้างเหล็ก เพราะติดตั้งง่าย และทนทาน แข็งแรง ทั้งนี้การประกอบโครงหลังคาไม่ว่าจะเป็นวัสดุชนิดใดก็ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของช่างติดตั้งหลังคา ในการวางระยะที่ทำงานควบคู่ไปกับการคำนวณทางวิศวกรรมอย่างรอบคอบ

     ตัวอย่าง ปัญหาของการสร้างโครงหลังคาไม่ได้มาตรฐานที่มักพบได้บ่อย เช่น ประกอบจันทันไม่ได้ระดับ ส่งผลให้มุงกระเบื้องได้ระดับไม่เท่ากัน กระเบื้องจึงกระเดิด ทำให้น้ำสามารถไหลซึมเข้ามาได้ หรือคุณภาพการเชื่อมเหล็กที่ไม่สนิท การทาสีกันสนิมให้ทั่วโครงเหล็กด้วยมือ ก็ทำให้เกิดสนิมและผูพังก่อนเวลา ข้อผิดพลาดที่เป็นจุดเล็กๆ ก็อาจเกิดเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในภายหลังได้ เจ้าของบ้านจึงควรตรวจสอบว่าขนาดเหล็กที่ใช้ในแต่ละจุดตรงสเป็กหรือไม่ ความหนาเท่าไหร่ ต้องมีมาตรฐานรับรองเพื่อยืนยันคุณภาพที่เชื่อถือได้

 ข้อนี้อาจจะแก้ง่าย โดยการใช้โครงหลังคาสำเร็จรูปดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ปัจจุบันนั้นง่ายมากๆ เพราะผู้ผลิตหลายเจ้าก็หันมาเปิดทีมให้บริการงานหลังคากันด้วย เช่น SCG เป็นต้น

2. องศาของหลังคา

 

การติดตั้งหลังคาจึงต้องคำนึงถึงองศาความลาดเอียงที่พอเหมาะ เพื่อให้น้ำฝนไหลระบายลงมาได้ง่าย ซึ่งองศาหลังคาที่น้อยเกินไป นอกจากจะทำให้ความชื้นคงอยู่บนหลังคานานขึ้นทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายแล้ว ยังทำให้น้ำฝนไหลย้อนกลับเข้าไปใต้ชายคา หลักการออกแบบหลังคาที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดีจะใช้หลังคาทรงสูงมีความชันตั้งแต่ 30 องศาขึ้นไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุที่ใช้มุงหลังคาและข้อกำหนดของหลังคาแต่ละชนิดด้วย ทั้งนี้ หากเจ้าของบ้านต้องการบ้านหลังคาต่ำ เพื่อให้รูปทรงหน้าตาดูโมเดิร์นทันสมัย การปรับขนาดองศาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่วัสดุหลังคาจะรองรับได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรึกษาสถาปนิก วิศวกร ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคำนวณระยะซ้อนของแผ่นหลังคา เพื่อป้องกันปัญหาหลังคารั่วซึม

3. ระยะแปห่างเกินไป หลังคาแอ่นตัว

 

     หลายท่านอาจสงสัยว่า การติดตั้งโครงหลังคาที่วางระยะห่างเกินไปหรือมุงกระเบื้องไม่ได้แนวตรง จะทำให้เกิดหลังคารั่วซึมได้อย่างไร อันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “แป” เป็นชิ้นส่วนสำคัญของโครงสร้างหลังคา ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักกระเบื้องหลังคาทั้งผืน หากติดตั้งจันทันที่มีระยะห่างมากเกินไป ทำให้แปต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้นไปด้วย ทำให้แปแอ่นตัวหรือเกิดการยุบตัวลงของหลังคาได้ ซึ่งจะไปดันกระเบื้องที่เคยเรียงตัวกันสนิทสูงโก่งขึ้นมาจนเกิดช่องว่าง ส่งผลให้เมื่อมีฝนตกลมแรงน้ำฝนไหลย้อนเข้ามาที่ส่วนใต้หลังคา ในจุดนี้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญคำนวณเผื่อน้ำหนัก รวมน้ำฝนให้เรียบร้อย เพราะปัญหาลักษณะนี้มักจะเกิดหลังจากส่งมอบงานเรียบร้อย แล้วมาโก่งมายุบกันทีหลัง จะหาผู้รับผิดชอบได้ลำบาก

4. ติดตั้งสันหลังคา ตะเข้สัน ไม่ได้มาตรฐาน

 

     ส่วนของหลังคาที่พบว่าเกิดการรั่วซึมบ่อยๆ คือ บริเวณรอยต่อระหว่างผืนหลังคาแต่ละด้าน โดยเฉพาะบริเวณสันหลังคาและตะเข้สัน ทำให้ต้องมีวัสดุครอบเป็นตัวปิดรอยต่อเอาไว้ ซึ่งช่างติดตั้งหลังคาส่วนใหญ่จะใช้วิธียึดครอบสันหลังคาแบบเปียกคือใช้ปูนซีเมนต์ผสมทรายและน้ำ เป็นตัวยึดครอบ

      ด้วยคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ จะช่วยจะยึดติดกับผิวแผ่นหลังคาและครอบติดกันได้และป้องกันรั่วได้หากช่างฝีมือดี แต่ถ้าการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น โบกปูนล้นเข้าไปในตะเข้สัน หรือติดตั้งปูนใต้ครอบบางเกินไปและล้นหัวกระเบื้อง การติดตั้งครอบหลังคาที่ไม่แน่นหนายึดครอบไม่สนิท ติดตั้งครอบสันหลังคาไม่ได้ระดับ หรือตัดกระเบื้องร่องรางและตะเข้สันไม่ได้แนวตรง จะทำให้เกิดช่องว่างเป็นช่องทางให้น้ำซึมและรั่วเข้าสู่ตัวบ้านได้ 

     อีกกรณีที่พบได้บ่อยคือ ปูนเกิดการเสื่อมสภาพจากการหดตัวของวัสดุ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จึงเกิดรอยแตกร้าวเมื่อมีฝนตกลมกระโชกแรง จะพัดน้ำฝนย้อนขึ้นมาได้ ส่งผลให้น้ำซึมเข้าตามรอยแตกของปูนที่อุดครอบสันหลังคา

5. น้ำรั่วบริเวณอุปกรณ์ยึด 

 

     ช่องโหว่ที่เกิดการการเจาะยึดหลังคาเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในชนิดวัสดุมุงที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ยึดอย่าง สกรู ตะปูเกลียว ในแผ่นกระเบื้องที่เจาะสกรูผิดพลาดไม่ตรงแปแล้วไม่ได้อุดเก็บงานให้เรียบร้อย เป็นหนึ่งสาเหตุของการรั่วซึม ขั้นตอนการตรวจเช็คนี้ควรทำตั้งแต่ยังไม่ติดตั้งฝ้าเพดาน มิเช่นนั้นจะตรวจสอบได้ยาก อย่างไรก็ตามวัสดุที่ใช้งานไปนานๆ ก็ย่อมการเสื่อมสภาพลง ตัววัสดุที่มีหน้าที่ป้องกันน้ำเข้าตามรอยยึดก็เช่นกัน อาจเป็นสนิม หลุด ก็ทำให้มีรูรั่วขึ้นได้เหมือนกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกวัสดุยึดที่มีคุณภาพสูง เพื่อความแข็งแรงและป้องกันสนิมได้

การเก็บรายละเอียด ปิดช่องให้มิดชิด

นก หนู งู แมว คือสัตว์ยอดฮิตที่มักจะหาช่องหารูเข้าไปในงานหลังคาได้ และเมื่อสัตว์เหล่านี้เข้าไปใต้ชายคา หรือในงานหลังคา ก็มีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านของเราได้อย่างมาก งานรั่ว งานซึม งานปัญหาต่างๆ จะตามมาได้ครบทุกรายกันเลยทีเดียว ฉะนั้นตอนเก็บงานควรให้ช่างตรวจอย่างละเอียด อุดช่อง เก็บงานให้เรียบร้อย ไม่ให้มีที่ทางให้เป็นการเชิญชวนสัตว์ต่างๆ มาเป็นเจ้าของบ้านร่วมกันกับเรา

     จะเห็นได้ว่าการจะสร้างบ้านใหม่สักหลัง มีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจ หากพลาดเพียงจุดเดียว ก็อาจเกิดปัญหาหลังคารั่วบานปลายตามมาได้ หากต้องการบ้านที่ไม่มีปัญหา หลังคาสวยงามและใช้งาน ได้ยาวนาน นอกจากจะมีสถาปนิกออกแบบบ้านได้ตามที่ต้องการ เลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพ สวยงาม คงทนแล้ว สิ่งที่เจ้าของบ้านมือใหม่ไม่ควรมองข้ามคือ การเลือกทีมช่าง ผู้รับเหมา ที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับงาน โดยเฉพาะงานหลังคาซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ใช่ช่างคนไหนๆ ก็สามารถทำได้ ดังนั้นต้องเลือกทีมช่างติดตั้งหลังคา ที่มีความชำนาญมากประสบการณ์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้งานหลังคาคุณภาพ ยืดอายุหลังคาให้สวยงามยาวนาน

หากท่านใดมีข้อสงสัย หรือกำลังมองหาทีมงาน และช่างที่จะมาช่วยคิด ช่วยออกแบบ และก่อสร้างบ้านในฝันของท่าน ก็อย่าลืมลองทักกัน ติดต่อกันเข้ามาได้ที่ 095-6456964 หรือผ่านทาง Line Official โดยการสแกน QR code ด้านล่าง

ชมผลงานจาก Richcons คลิ๊กที่นี่